รวมพลเปิดสนทนากลุ่ม ตาม พรบ.คุ้มครองพยานในคดีอาญา พ.ศ. 2546

คุ้มครองสิทธิฯ รวมพลเปิดสนทนากลุ่ม ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองพยานในคดีอาญา พ.ศ. 2546 มุ่งเป็นแนวทางแก้ไขปัญหา สู่การเพิ่มประสิทธิภาพที่ดีขึ้น

วันพฤหัสบดีที่ 19 สิงหาคม 2564 นางทัศนีย์ เปาอินทร์ รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เป็นประธานในพิธีเปิด การประชุมกลุ่มย่อยในรูปแบบการสนทนากลุ่ม (Focus Group) หัวข้อ “องค์กรผู้มีหน้าที่รักษาการและองค์กรผู้ทำหน้าที่คุ้มครองพยาน ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองพยานในคดีอาญา พ.ศ. 2546” ครั้งที่ 1 ผ่านทางออนไลน์ระบบ Cisco..Webex..Meetings โดยมี พ.ต.ท.ธัญญะ ระย้า ผู้อำนวยการสำนักงานคุ้มครองพยาน เป็นผู้กล่าวรายงาน และได้รับเกียรติจาก นางสาวเปรมยุดา ตันติกนกพร ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพ นายชนะชัย วรรณษา นักวิชาการยุติธรรมชำนาญการพิเศษ สำนักงานคุ้มครองพยาน และ ผศ.ดร.กรรภิรมย์ โกมลารชุน ซึ่งมี นายนคร วัลลิภากร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เป็นผู้ดำเนินรายการ ร่วมด้วย ผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่มีภารกิจด้านการคุ้มครองพยานในระดับจังหวัด และระดับภูมิภาค เข้าร่วมแลกเปลี่ยนและให้ข้อมูล อาทิ สำนักงานคุ้มครองพยาน ตำรวจภูธรจังหวัด มณฑลทหารบก กรมการปกครอง ศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นของมนุษย์จังหวัด สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปราบยาเสพติด เรือนจำ สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน และสำนักงานยุติธรรมจังหวัด รวมทั้งสิ้น 29 คน

สำหรับการประชุมดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยโครงการประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองพยานและแนวทางการพัฒนางานคุ้มครองพยานของประเทศไทย ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนส่งเสริมภายใต้แผนปฏิบัติการด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) โดยเป็นงานวิจัยด้านการคุ้มครองพยานในรอบกว่า ๑๐ ปี ของกรมฯ และเป็นครั้งแรกที่สำนักงานคุ้มครองพยานได้รับการจัดสรรงบประมาณให้ดำเนินการวิจัยในลักษณะที่เป็นการฝึกบุคลากรของหน่วยงานให้เป็นนักวิจัยเอง เพื่อให้ทราบถึงปัญหา ของกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองพยาน ครอบคลุมทั้งปัญหาจากบทบัญญัติของกฎหมายและปัญหาของการบังคับใช้กฎหมาย รวมถึงการรวบรวมความคิดเห็นเพื่อเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาของการคุ้มครองพยาน อันจะนำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพของงานคุ้มครองพยานให้ดียิ่งขึ้นต่อไป