เติบโตอย่างแตกต่างกับสถาบันกวดวิชา Panya Society

เติบโตอย่างแตกต่างกับสถาบันกวดวิชา Panya Society

“เราต่อต้าน ‘วิชามาร’ ที่มุ่งเน้นการจำสูตรลัด เพื่อให้ผู้เรียนใช้ความเข้าใจสูงสุด ดึงศักยภาพ ความรู้ออกมาใช้แก้ปัญหาด้วยปัญญาจริงๆ”

2 ผู้บริหาร ที่เป็นทั้งผู้ก่อตั้ง และคุณครูตัวจริงของสถาบัน “พี่แชร์ & พี่นอต” แห่ง PANYA SOCIETY สถาบันกวดวิชาที่มุ่งเน้นความเข้าใจสูงสุดกับผู้เรียน แวะมาแบ่งปันแนวทางทำธุรกิจ Startup ด้านการศึกษา ที่วันนี้เติบโตมีผู้เรียนจำนวนมหาศาลเข้ามาในระบบ กับความสำเร็จอย่างก้าวกระโดด ทั้งยอดขายของคอร์สเรียน และกระแสการพูดถึงอย่างล้นหลามใน social media ของผู้เรียนตัวจริงเสียงจริง นับว่า สถาบันเติบโตพัฒนาขึ้นหลายเท่าตัว ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งเมื่อปี 2019 วันนี้ 2 ผู้บริหารหนุ่มมาเผยเคล็ดลับความสำเร็จในการทำธุรกิจสถาบันกวดวิชาออนไลน์

‘พี่แชร์-สุปิติ บูรณวัฒนาโชค’ ติวเตอร์วิชาฟิสิกส์ อดีตตัวแทนประเทศไทยเหรียญทองฟิสิกส์โอลิมปิก และนักเรียนทุนตรี-โท 2 สาขา วิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ ผู้บริหารหนุ่มโปรไฟล์แน่น เผยถึงกุญแจของความแตกต่างที่ทำให้ Panya Society ไม่เหมือนที่อื่นๆให้ได้ฟังว่า

“Panya Society เริ่มต้นจากความเข้าใจธรรมชาติของผู้เรียนก่อน เรามองว่าปัญหาของเด็กไทยมีเหมือนกันคือ การมุ่งหาที่เรียนพิเศษ เพราะเรียนในระบบที่โรงเรียนไม่เข้าใจ ไม่ว่าจะด้วยปัจจัยอะไรก็ตาม ดังนั้น เด็กเข้ามาหาเราด้วยความไม่เข้าใจ สิ่งที่ครูต้องมอบให้อย่างแรกคือ ต้องใส่ความเข้าใจเป็นพื้นฐานให้เด็กก่อนครับ”

พี่แชร์ เผยปัญหาของเด็กไทยต่อว่า “เพราะวิธีคิดของเด็กที่ต้องการสอบติดส่วนใหญ่ จะเป็นแบบ shortcut พวกเขาอยากได้ความสำเร็จที่ง่าย และรวดเร็ว ก็คือ ใช้กลยุทธ์ทุกทาง ทำอย่างไรก็ได้ให้สอบติดในสถาบันชั้นนำตามที่ต้องการ แม้ว่าการเรียนม. ปลายที่ผ่านมาจะไม่เข้าใจเนื้อหาวิชาเลย ก็ไม่สนใจ ขอแค่ให้ตนติดคณะ-มหาลัยที่มีชื่อเสียงเป็นพอ และนั่นนำไปสู่ปัญหาของวิธีการเรียนรู้แบบผิดๆ ที่เราสัญญากับตัวเองว่า เราจะไม่ทำแบบนั้นเด็ดขาด”

Panya Society มุ่งเน้นความเข้าใจ แต่อะไรกันที่เป็นอุปสรรคการเรียนของเด็ก และอะไรคือสิ่งที่ Panya Society จะไม่มีวันทำ??? พี่แชร์ไขกุญแจเฉลยปริศนานี้

“สิ่งที่เราจะไม่มอบให้เด็กคือ ‘วิชามาร’ การท่องสูตรลัดเข้าห้องสอบ ที่หวังแค่เพียงว่าจะทำข้อสอบให้ได้คะแนนเยอะ แต่เราไม่คิดแค่นั้น มันไม่ใช่วิธีที่ถูกต้องของการเรียนรู้ แม้ว่าการใช้สูตรลัดสอนจะง่ายมากเลย ใครๆก็สอนได้ เพราะแค่ท่องจำ pattern ของวิธีการทำข้อสอบ ท่องสูตรลัด จดจำแนวทางคำตอบเพื่อทำคะแนน แต่นั่นไม่ใช่แนวทางของเรา เพราะมันไม่ใช่ความรู้ ไม่ยั่งยืน และไม่ใช่วิถีของปัญญา และวิธีการนี้ก็ใช้ไม่ได้ผลแล้วในวันนี้”

‘พี่นอต-ดร.ธรรมนิติ์ พิพัฒน์ศรีสวัสดิ์’ ติวเตอร์วิชาคณิตศาสตร์ อดีตนักเรียนทุนคิง และวิศวกรซอฟต์แวร์จาก Google ปริญญาเอกด้าน AI พร้อมรางวัลนักเรียนดีเด่นจาก UCLA ผู้ก่อตั้งร่วมโปรไฟล์แน่นอีกท่าน กล่าวเสริมว่า “ทำไม ‘วิชามาร’ กำลังสร้างปัญหาให้เด็กไทย?”

“เป็นความจริงที่ความสำเร็จของการกวดวิชาแบบเดิมๆ มันง่าย รวดเร็ว และตรงตามความต้องการของเด็ก แต่มันคือภัยเงียบของผู้เรียน ที่พวกเขาไม่รู้ตัวเลยว่า กำลังจะเผชิญหน้ากับปัญหาอะไรในอนาคตบ้าง?”

พี่นอตเริ่มลงรายละเอียดจริงจังในประเด็นสำคัญที่ทำให้วิชามาร ไม่ปรากฏที่ Panya Society

“หนึ่ง ผมมองว่าพวกเขากำลังไปศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย ในสาขาที่ต้องต่อยอดใช้องค์ความรู้ลึกมากขึ้น การทำข้อสอบเข้าไปเรียนได้เพียงเพราะใช้สูตรลัด แต่เข้าใจอย่างผิวเผิน พอไปเรียนลึกขึ้นในมหาวิทยาลัยจึงล้มเหลว ต้องนับหนึ่งใหม่กับเรื่องพื้นฐาน มันคือกับดักที่ทำให้พวกเขาเรียนอย่างไม่มีความสุข ท้อแท้ หมดกำลังใจ สุดท้าย การเรียนไม่รอดนำไปสู่การซิ่ว ลาออกจากคณะเดิมที่อุตส่าห์ตั้งใจสอบเข้า ต้องหยุดฝัน เพราะทำได้เพียงแค่สอบเข้าไปได้ แต่ไม่มีความรู้พอที่จะเรียนไหว ให้รอดจนจบปริญญาตรี

สอง จะเห็นได้ว่า TCAS ปี 2564 ที่ผ่านมา ข้อสอบในกลุ่มวิชาคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์เปลี่ยนผู้ออกข้อสอบ เป็นทีมงานจาก สสวท. ผู้ทำหนังสือแบบเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ที่มุ่งเน้นความเข้าใจในเนื้อหาบทเรียน การทดลอง และการประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน ดังนั้น เมื่อข้อสอบเปลี่ยนไป วัดความเข้าใจ การหาวิชามารท่องจำเข้าไปทำข้อสอบ ไม่ใช่ตัวช่วยที่ดีอีกแล้วของเด็ก เพราะถ้าไม่เข้าใจจะเอาอะไรไปสอบ ข้อสอบกำลังดัดหลังเด็กที่ใช้วิชามาร ท่องจำสไตล์โจทย์ ให้ตกม้าตาย และมุ่งเน้นให้เด็กเข้าใจในสิ่งที่เรียนมากยิ่งขึ้น”

พี่แชร์พยักหน้า พร้อมเสริมเพื่อนร่วมก่อตั้ง “นั่นแหละคือคำตอบที่เป็น DNA ของ PANYA คือ ‘Practicality’ หมายถึงการเรียนรู้ที่นำไปใช้ได้จริง มันจะไม่มีประโยชน์อะไรเลย ที่เด็กจะเรียนรู้เพื่อท่อง Pattern การทำโจทย์ข้อสอบ ที่ทำได้แค่ข้อ style นั้น แต่พอโจทย์เปลี่ยน เด็กก็ทำไม่ได้แล้ว ต้องท่องจำสไตล์โจทย์เพิ่ม นั่นคือคำว่าไม่ยั่งยืนที่เรากำลังบอก”

“ถ้าความรู้นั้นยั่งยืนจริงๆ เด็กต้องเรียนโดยท่องจำให้น้อยที่สุด เข้าใจให้มากที่สุด และนำความเข้าใจนั้นไปประยุกต์ใช้งานได้กับโจทย์ทุกรูปแบบ นี่สิของจริง คือเรียนรู้เพื่อนำไปใช้ apply ได้กับทุกปัญหาที่เขาเจอ ผ่านชุดความรู้ที่เขามีอยู่”

พี่นอตเสริมทิ้งท้ายว่า “เหตุผลที่เราเติบโตมากขึ้นในปีนี้การทำธุรกิจกวดวิชา ผมมองว่าน่าจะมาจาก 3 ปัจจัยแห่งความสำเร็จ

หนึ่ง คือตัวตน และวิธีคิดของเรา 2 คนที่เป็นมนุษย์ตรรกะ เราเชื่อในความเป็นเหตุเป็นผล เราจริงใจซื่อสัตย์กับผู้เรียน เราไม่หลอกเด็กให้มาเรียนในสิ่งที่ไม่ได้พัฒนาพวกเขาจริงๆ เด็กจะสำเร็จได้ยั่งยืน ก็ต่อเมื่อมาจากการเรียนรู้ในวิธีที่ถูกต้อง กับครูที่สอนเข้าใจจริงๆ ไม่ใช่ท่องจำ…ถ้าสมัยเรียน ความสำเร็จของผมไม่ได้มาจากการท่อง ผมก็อยากสอน และถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับเด็กๆในแบบเดียวกัน เพราะเราอยากจะสอนให้เด็กเข้าใจและรักวิชาที่เรียนเหมือนตอนเราเรียน

สอง คือผมเชื่อว่าตัวอย่างคลิปสอนทั้งหมดที่พวกเราทั้งสถาบัน และคุณครูทุกท่านตั้งใจทำ มันสะท้อนตัวตนของเราว่าเรามุ่งเน้นความเข้าใจจริงๆ เด็กชมตัวอย่างวิดีโอจริงในคอร์สเรียนแล้วเข้าใจ ทำให้การตัดสินใจเรียนคอร์สของ Panya Society ง่ายขึ้น มันพิสูจน์ว่าสิ่งที่เราตั้งใจทำมาทั้งหมด ตรงกับสิ่งที่เด็กมองหาอยู่จริงๆ คือความเข้าใจ และการนำไปใช้ได้จริงๆที่เราส่งมอบให้เด็กเสมอมาครับ

สุดท้ายคือ ระบบ Panya Learning ที่เราออกแบบการเรียนการสอนมาตอบโจทย์ความเข้าใจสูงสุดของเด็ก ด้วย ‘โค้ชผู้ช่วยส่วนตัว’ หรือ Panya Chat ตอบทุกข้อสงสัย การันตีว่า อาจารย์ตอบทุกคำถามของนักเรียนภายใน 24 ชม. เพื่อให้การเรียนออนไลน์ของนักเรียนไร้ร้อยต่อ และเพื่อความเข้าใจของนักเรียนเป็นรายบุคคลอย่างแท้จริง”

ถ้าให้บอกว่า Panya Society คือใคร จะพูดว่าอะไร? อยากฝากอะไรทิ้งท้ายไว้ถึงสถาบัน พี่แชร์ปิดบทสัมภาษณ์นี้อย่างมั่นใจ

“เราคือสถาบันกวดวิชาที่สอน เพื่อความเข้าใจ ไม่ใช่ท่องจำ และนำไปใช้ได้จริงครับ น้องๆมาทดลองเรียนกันดูได้ที่ www.PanyaSociety.com  รับรองว่าความเข้าใจ ที่พี่ๆมอบให้ จะเปลี่ยนโลกของการเรียนรู้ของน้องๆตลอดไป ให้ประสบความสำเร็จติดในคณะที่ใฝ่ฝัน ก้าวเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย ด้วยความเข้าใจที่ยั่งยืนจริงๆครับ”